11.8.52

หลักการพื้นฐานของวอลเลย์บอล


เรื่องหลักการพื้นฐานของวอลเลย์บอลนี้ เป็นเหมือนหลักการ แนวความคิดในการเล่นวอลเลย์บอล ซึ่งอธิบายว่าในเกมส์วอลเลย์บอลมีอะไรเกิดขึ้น อย่างไร ผู้ฝึกสอนที่สามารถวิเคราะห์ได้ จะทำให้เรามีแนวทางในการสร้างทีม ฝึกซ้อมได้

ในเกมส์การแข่งขันวอลเลย์บอล ผลการแข่งขันจะแพ้หรือชนะนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น สภาพทีม จังหวะและโอกาส รวมทั้งโชคก็มีส่วนอยู่บ้างเหมือนกัน

แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ เทคนิคส่วนบุคคลและกลยุทธ์ต่าง ๆ มีส่วนเป็นอย่างมากที่จะทำให้เราประสบผลสำเร็จในการแข่งขัน

ในการแข่งขันวอลเลย์บอลเกมส์หนึ่ง เวลาที่ใช้ในการเล่นลูกบอลสัมผัสบอลจริง ๆ จะประมาณ 25 นาทีเท่านั้น แต่ละทีมจะถูกบอลเฉลี่ย 150 ครั้งต่อทีม และแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 0.1 วินาที ดังนั้นเวลาที่ผู้เล่นสัมผัสบอลจริง ๆ จะอยู่ที่ประมาณ 30 วินาที ( 150 ครั้ง x 0.10 x 2 ทีม ) หมายความว่าแต่ละทีมจะสัมผัสบอลประมาณทีมละ 15 วินาทีเท่านั้น ทีมที่ชนะจะใช้เวลา 15 วินาที ในการสัมผัสบอลอย่างมีประสิทธิภาพ

คำถามก็คือ ทีมของเราจะทำอย่างไรให้ดีที่สุดใน 15 วินาทีนั้น และอีก 24 นาท 15 วินาที ีที่เหลือจะทำอะไร ?
คำตอบคือ เวลาที่เหลือที่เราไม่ได้สัมผัสบอลควรทำ 2 สิ่งดังนี้คือ
1.สื่อสารกับเพื่อนร่วมทีมเกี่ยวกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในสนาม ( Communication )
2.เตรียมร่างกายให้อยู่ในลักษณะที่พร้อมมากที่สุด ในการสัมผัสบอลแต่ละครั้ง (Foot Work)ทั้งหมดคือ กุญแจสู่ความสำเร็จในการเล่นวอลเลย์บอล ผู้เล่นควรศึกษาพฤติกรรม ทั้งการสื่อสารในทีม และการเคลื่อนที่ของผู้เล่น หากเราสามารถทำได้อย่างนี้ เราจะเป็นผู้เล่นที่มีประสิทธิภาพ และทีมจะประสบชัยชนะได้

การสื่อสารภายในทีม On-Court Communication
ผู้เล่นทุกคนจะต้องมีการสื่อสารกันภายในทีมอย่างมีประสิทธิภาพ และสม่ำเสมอ เพื่อประสิทธิภาพในการเล่น ในการฝึกซ้อมสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยในการเล่นผู้เล่นต้องออกเสียงว่าเกิดอะไรขึ้นจนกว่าจะจบการเล่นนั้น ๆ เช่น กระโดดเสริฟ , ปล่อย , บล๊อคด้วย , บล๊อคฉีก , หยอด , เซ็ตหัวเสา และอื่น ๆ เป็นต้น

ในสถานการณ์ที่ทีมเราอยู่ในตำแหน่งการรุกนั้น แตกต่างจากการเป็ฯฝ่ายรับ เราควรพูดบอกกันในเรื่องการเคลื่อนที่ ๆ เป็นประโยชน์ เช่น ตัวบล๊อคอยู่หน้าตาข่าย หรือ ระวังตบหัวเสา การที่มีการพูดตลอดเวลาในการเล่นนั้น แม้มันจะดูวุ่นวาย ( สังเกตุจากการเล่นของทีมญี่ปุ่น ) แต่ก็สามารถ็ช่วยให้ทีมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การฝึกซ้อมปรับปรุงการสื่อสารของทีม จะช่วยทีมได้ดังนี้คือ
1. ช่วยลดความผิดพลาดในการเล่นที่เป็นผลจากการสื่อสารในทีม เช่น จะรู้ว่าใครจะเล่นบอลนั้น
2. สามารถช่วยเราพัฒนาทักษะการเล่นได้ เราจะมีส่วนร่วมอยู่กับเกมส์ตลอดเวลา

การเคลื่อนที่ Footwork
ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่ช่วยเรามากที่สุดในการเล่นบอลคือ การเคลื่อนที่ ในการเล่นวอลเลย์บอลทุกคนจะต้องมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา เช่น ตัวเซ็ตเเคลื่อนที่ไปเซ็ต ตัวตบเข้าทำการตบ ผู้เล่นอื่น ๆ เคลื่อนที่เข้าไปรองบอล การเคลื่อนที่ ๆ สำคัญ คือ

การก้าวเท้า , การกลับตัว Step , Hop
การเล่นวอลเลย์บอลจะต้องมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา ทักษะการเคลื่อนที่ที่ดี จะทำให้ผู้เล่นสามารถเคลื่อนที่ไปยังจุดที่ต้องการ เกิดความสมดุล ผู้เล่นต้องฝึกฝนให้การเคลื่อนที่ของตัวเองถูกต้องที่สุดดด้วยทักษะขั้นสูง เพราะเมื่อเราเคลื่อนที่ไปยังจุดที่ต้องการแล้วในเวลาที่สมดุลแล้วจะทำให้การเล่นลูกนั้นง่ายขึ้น
รูปแบบจังหวะการก้าวเท้า เป็นคุณสมบัติที่ดีของนักวอลเลย์บอล เพราะทำให้ผู้เล่นสามารถเคลื่อนที่ได้ครอบคลุมทั้งสนาม สามารถเคลื่อนที่เข้าเล่นลูกได้อย่างสมดุล นักกีฬาวอลเลย์บอลที่ดีจะต้องพร้อมที่จะเล่นบอลให้ดีที่สุด

ทำคะแนนได้ เล่นยังไงก็ชนะ



ปรัชญาการแข่งขันวอลเลย์บอล หนึ่ง เปลี่ยนเสริฟให้ได้ สอง ทำคะแนนให้ได้ หากสามารถทำได้สมบูรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แข่งขันยังไงก็ไม่แพ้ แต่ก็อย่างที่กล่าวไว้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เกิดความผิดพลาด แต่ทีมใดที่สามารถควบคุมความผิดพลาดให้เกิดน้อยกว่าทีมนั้นย่อมเป็นผู้ชนะ

ในเอนทรี่ที่แล้วผมแยกขั้นตอนของกระบวนการทำเปลี่ยนเสริฟ (Side out Phase) ให้เห็นแล้ว ในตอนนี้จะต่อกันในปรัชญาที่ 2 เรื่อง การทำคะแนน (point phase)

การทำคะแนน (point phase)

ในกระบวนการทำคะแนน เมื่อเราแยกออกเป็นขั้นตอนต่าง ๆ เราจะเห็นว่ามีความแตกต่างกับกระบวนการเปลี่ยนเสริฟอยู่บ้าง สามารถแยกเป็นขั้นตอนได้ดังนี้

การเสริฟ Service
การสกัดกั้น Block
การตั้งรับ Defense
การเตรียมการโจมตีกลับ
การโจมตีกลับ Attack
การรองบอล Cover
การโจมตีกลับจนกว่าจะสำเร็จ

1. การเสริฟ
เป็นขั้นตอนแรกในกระบวนการทำคะแนน การเสริฟเป็นหนึ่งในทักษะการทำคะแนน (Scoring skill) คือ เป็นทักษะที่ใช้ทำคะแนน ซึ่งมีความสำคัญมาก หากทีมใดมีการเสริฟดี แม้ว่าอาจจะไม่ได้คะแนนทันที แต่การเสริฟที่ดีสามารถทำลายรูปแบบการรุกของคู่ต่อสู้ ทำให้เราสกัดกั้นได้ง่ายขึ้น

2. การสกัดกั้น
เป็นอีกทักษะในการทำคะแนนเช่นกัน ถ้าเรามีการสกัดกั้นที่ดี ก็จะทำให้ทีมได้คะแนน ในกระบวนการทำคะแนน หากการเสริฟไม่สามารถทำคะแนนได้ ทีมต้องพยายามสกัดกั้นการรุกของคู่ต่อสู้ให้ได้

3. การตั้งรับ
หากการเสริฟ และการสกัดกั้นของทีมไม่สามารถทำคะแนนได้ โอกาสที่ทีมจะเสียคะแนนจะมีมากขึ้นทันที สิ่งที่จะช่วยให้ทีมไม่เสียคะแนนก็คือการตั้งรับ การตั้งรับที่ดีจะทำให้เราเปลี่ยนจากฝ่ายรับ กลับไปเป็นฝ่ายรุกทำคะแนนได้
4. การเตรียมโจมตีกลับ และการโจมตีกลับ
เมื่อการตั้งรับประสบความสำเร็จ การพยายามโจมตีกลับคือ การพยายามเซ้ต หรือส่งบอลให้ผู้เล่นตัวรุกทำการรุกโต้กลับนั่นเอง

5. การรองบอล
ในขณะที่โจมตีกลับ เราต้องระวังบอลที่รุกไปแล้วถูกคู่ต่อสู้สกัดกั้นได้ เราต้องระวังรองบอลที่ติดบล๊อคกลับมาเพื่อทำการโจมตีกลับ

6. การเตรียมโจมตีกลับจนกว่าจะสำเร็จ
เมื่อทีมรองบอลได้ ทีมก็จะมีโอกาสทำการรุกกลับ จนกว่าจะประสบความสำเร็จ

ขั้นตอนทั้ง 6 ที่กล่าวมาในกระบวนการทำคะแนน จะเกิดต่อเนื่องกันไปตามลำดับ กระบวนการทำคะแนนอาจจะจบแค่การเสริฟ หรือการสกัดกั้น เพียงเท่านั้นก็ได้ หรืออาจจะเกิดทั้ง 6 ขั้นตอนที่กล่าวมา แต่ประเด็นสำคัญคือเราต้องทำคะแนนให้ได้

นี่คือสิ่งที่ผู้ฝึกสอนควรจะนำไปวิเคราะห์ เพื่อการออกแบบวางแผนการฝึกซ้อมพัฒนาทักษะ เมื่อเราแยกกระบวนการทำคะแนนออกเป็นขั้นตอน จะเห็นว่าขั้นตอนที่ 2 เป็นต้นไปก็คือ การเล่นโต้กลับ (Counter Attack) นั่นเอง

หากจะสรุปว่าการทำคะแนน (Point Phase) สิ่งที่สำคัญคือ การเสริฟ และการเล่นโต้กลับ counter attack ส่วนการทำเปลี่ยนเสริฟ สิ่งที่สำคัญคือ การโจมตีครั้งแรก first attack นั่นเอง