23.11.52

รูปแบบแผนการรุก Offence ในกีฬาวอลเลย์บอล (ตอนที่ 1)

การรุกเป็นกระบวนการการหนึ่งที่เกิดขึ้นในการเล่นหรือแข่งขันวอลเลย์บอล การรุกที่มีประสิทธิภาพนอกจากสามารถทำคะแนนให้กับทีมแล้ว ยังสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้กับผู้ชมด้วย กระบวนการรุกในวอลเลย์บอลอาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ การรุกครั้งแรก (First Attack) และการรุกโต้กลับ (Counter Attack)

การรุกครั้งแรก (First Attack) หมายถึงการรุกในกระบวนการทำเปลี่ยนเสริฟ (side out) คือการรุกเมื่อคู่แข่งเป็นฝ่ายเสริฟ ลักษณะการเล่นจะมีโครงสร้างดังนี้ การรับเสริฟ --- การเซต ---- การรุก

การรุกโต้กลับ (Counter Attack) เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการรักษาเกมเสริฟ (point phase)คือการเล่นเกมรุกเมื่อสามารถป้องกันการรุกของคู่แข่งได้ เช่นรับลูกตบได้ หรือคู่แข่งไม่สามารถทำเกมรุกได้ต้องแก้ไขบอลข้ามมา ลักษณะการเล่นจะมีโครงสร้างดังนี้ การรับ --- การเซต--- การรุก

การแบ่งโครงสร้างลักษณะการรุกจะทำให้ผู้ฝึกสอนสามารถทราบว่า หากต้องการเน้นพัฒนาประสิทธิภาพการรุกครั้งแรกจะต้องพัฒนาองค์ประกอบส่วนใดและสร้างสถานการณ์การฝึกซ้อมอย่างไรเพื่อให้เกิดการพัฒนา


รูปแบบการรุก

รูปแบบการรุกหรือแผนการรุกในการเล่นวอลเลย์บอลมีมากมายหลายแบบ แผนการรุกแต่ละแบบจะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เล่นตัวรุก ตำแหน่งของการรุก การสร้างสรรค์ของตัวเซต การเลือกแผนการรุกใดสำหรับทีมต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง ศักยภาพของนักกีฬาในทีม ศักยภาพของคู่แข่ง ดังนั้นการที่ผู้ฝึกสอนจะเลือกแผนการรุกใดสำหรับทีมตัวเองต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ด้วย



แผนการรุกเมื่อมีตัวรุกอยู่แดนหน้า 2 คน

การรุกลักษณะนี้จะมีผู้เล่นตัวเซตและผู้เล่นตัวรุกอีก 2 คน อยู่แดนหน้า ในภาษาวอลเลย์บอลเรามักจะเรียกกันว่าหน้าสอง (คือมีผู้เล่นตัวรุกเพียง 2 คน) ซึ่งคู่แข่งจะสกัดกั้นหรือคาดเดาแผนการเล่นได้ง่ายกว่าแบบมีผู้เล่นตัวรุกอยู่แดนหน้า 3 คน ในทีมระดับกลางและระดับสูงเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์นี้ มักจะใช้ผู้เล่นแดนหลังทำการรุกร่วมอยู่ในแผนการรุกด้วยเสมอ




ตัวอย่างแผนการรุก

การรุกหน้า 2 โดยไม่มีผู้เล่นตัวรุกแดนหลัง

การรุกแบบแยกตำแหน่ง
แผนการรุกลักษณะนี้ (ภาพที่ 1-2) เป็นแผนการรุกที่ผู้เล่นแต่ละตำแหน่งในแดนหน้าจะทำการรุกจากตำแหน่งต่างๆ โดยจะไม่ซ้ำซ้อนกันเช่น
ภาพที่ 1 ผู้เล่นตำแหน่ง 4 ทำการรุกด้วยลูกหัวเสา Outside ส่วนผู้เล่นตำแหน่ง 3 ทำการรุกด้วยการเล่นบอลเร็ว Quick spike ลักษณะต่าง ๆ

ภาพที่ 1

ภาพที่ 2 ผู้เล่นตำแหน่ง 4 ทำการรุกด้วยบอลเร็วใกล้ตัวเซต A หรือไกลตัวเซต X ส่วนผู้เล่นตำแหน่ง 3 ทำการรุกด้วยลูกหัวเสาด้านหน้าหรือด้านหลังตัวเซต

ภาพที่ 2

รูปแบบการรุกลักษณะนี้อาจจะทำให้ผู้เล่นตัวรุกแต่ละตำแหน่ง จะถูกสกัดกั้นโดยคู่ต่อสู้อย่างน้อย 1 คน แต่จะทำให้ผู้เล่นตำแหน่งกลางหน้าของคู่ต่อสู้ต้องเคลื่อนที่ไปช่วยสกัดกั้นลำบาก แผนการรุกนี้หากจะมีประสิทธิภาพสูงสุดผู้เล่นตัวเซตจะต้องมองว่าผู้สกัดกั้นตัวกลางของคู่ต่อสู้ยืนอยู่ในตำแหน่งใด แล้วเซตบอลไปให้ตัวรุกที่มีผู้สกัดกั้นเพียงคนเดียว

การรุกหน้า 2 ร่วมกับผู้เล่นตัวรุกจากแดนหลัง

การรุกแบบแยกตำแหน่ง

แผนการรุกลักษณะนี้ (ภาพที่ 3-5) เป็นแผนการรุกที่ผู้เล่นแต่ละตำแหน่งในแดนหน้าจะทำการรุกจากตำแหน่งต่างๆ โดยจะไม่ซ้ำซ้อนกันและจะมีผู้เล่นอีก 1 คนทำการรุกจากแดนหลังเช่น

ภาพที่ 3 ผู้เล่นตำแหน่ง 4 ทำการรุกด้วยลูกหัวเสา C ส่วนผู้เล่นตำแหน่ง 3 ทำการรุกด้วยการเล่นบอลเร็ว A หรือ X และผู้เล่นตำแหน่ง 1 ทำการรุกจากแดนหลังร่วมด้วย

ภาพที่ 3

ภาพที่ 4 ผู้เล่นตำแหน่ง 4 ทำการรุกด้วยบอลเร็วใกล้ตัวเซต A หรือไกลตัวเซต X ส่วนผู้เล่นตำแหน่ง 3 ทำการรุกด้วยลูกหัวเสาด้านหลังตัวเซต และผู้เล่นตำแหน่ง 5 ทำการรุกจากแดนหลัง ภาพที่ 4

ภาพที่ 5 ผู้เล่นตำแหน่ง 4 ทำการรุกด้วยลูกหัวเสา C ส่วนผู้เล่นตำแหน่ง 3 ทำการรุกด้วยการเล่นบอลเร็วไหลหลัง และผู้เล่นตำแหน่ง 6 ทำการรุกจากแดนหลังภาพที่ 5


รูปแบบการรุกลักษณะนี้อาจจะพบมากในทีมระดับสูง ซึ่งสร้างความกังวลให้กับผู้สกัดกั้นเพราะมีผู้เล่นตัวรุกถึง 3 คนทำการรุกจากตำแหน่งที่แตกต่างกัน

ในตอนต่อไปผมจะนำเสนอรูปแบบแผนการรุกที่มีผู้เล่นตัวรุกอยู่แดนหน้า 2 คน และทำการรุกแบบซ้ำซ้อนตำแหน่ง Combination หรือที่ภาษาวอลเลย์บอลเรียกกันว่าการเล่นบอลทับ หรือบอลแทรก

1 ความคิดเห็น: